วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551

การเพิ่มผลผลิตในการทำงานด้วยการนั่งเก้าอี้ที่ถูกหลักเออร์กอนอมิกส์

เรียบเรียงโดย…ผศ.น.ต. สุทธิ์ ศรีบูรพา**


ศาสตร์ทางด้านการยศาสตร์หรือเออร์กอนอมิกส์(Ergonomics) นั้นมีวิวัฒนาการถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการอุบัติขึ้นมาของบรรดาสำนักงานยุคใหม่อันทันสมัยไฮเทค นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์สำนักงานต่างได้นำเอาข้อมูลที่มีความสำคัญยิ่งเกี่ยวกับมิติขนาดร่างกายของมนุษย์(Anthropometric Data) หลักการทางด้านความรู้สึกสะดวกสบาย(Comfort Principles) และวิทยาการทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม(Industrial Hygiene) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบเก้าอี้นั่งทำงาน
จากผลการวิจัยทางด้านการยศาสตร์หลายต่อหลายชิ้นได้ระบุให้เราตระหนักได้ว่า เก้าอี้ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีโดยคำนึงถึงหลักสรีรศาสตร์ของมนุษย์หรือเก้าอี้เออร์กอนอมิกส์(Ergonomic Chair)นั้น มันสามารถช่วยลดหรือบรรเทาปัญหาความเค้นและความเครียด(Stress and Strain) ที่เกิดขึ้นมาจากการที่บุคลากรสำนักงานใช้งานพวกเครื่องคอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด และอุปกรณ์สำนักงานอย่างอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายของมนุษย์เรานั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนตัว มีความยืดหยุ่นและต้องการการขยับเคลื่อนไหวไปมาอยู่ตลอดเวลา(Dynamic Organism) แต่ทว่าในความเป็นจริงของการทำงานในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศหรือยุคไอทีดังเช่นในปัจจุบันนี้ มนุษย์ได้พึ่งพาอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์สำนักงานเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำงาน จึงเกิดมีการนั่งจดจ่อจับจ้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ มากขึ้นแต่กว่าการทำงานในยุคสมัยก่อน การนั่งเช่นนี้จึงมีผลทำให้ร่างกายไม่อาจที่จะมีกิจกรรมการขยับเคลื่อนไหว หรือว่าการเปลี่ยนอิริยาบทในเชิงจลนศาสตร์(Dynamics movements)นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาทำนองนี้ที่ดีที่สุดก็คือ การรู้จักเลือกนั่งเก้าอี้ที่ช่วยให้ร่างกายของผู้นั่งสามารถขยับปรับเปลี่ยนท่าทางการนั่งทำงานได้หลากหลายท่าไม่ว่าจะนั่งเหยียดแข้งเหยียดขา นั่งเอนหลัง นั่งไขว่ห้าง นั่งหลังค่อม หรือการขยับหมุนเอี้ยวตัวไปทางซ้ายหรือทางขวา ก็สามารถทำได้โดยสะดวกง่ายดายโดยที่ผู้นั่งยังคงสามารถที่จะคร่ำเคร่งและมีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานที่กำลังปฏิบัติอยู่ได้ตลอดเวลา
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า กลุ่มพนักงานของสถานประกอบการหรือองค์กรใดๆ ที่มีท่าทางการนั่งที่ดี มีเก้าอี้นั่งที่พอเหมาะพอดีตัวนั้นจะมีอัตราการหยุดพัก(การหลบเลี่ยงหรือการอู้งาน) มีการใช้ปรับสภาพตัวเองให้พร้อมที่จะเริ่มต้นทำงานรอบใหม่ และจะมีอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหรืออาการปวดหลังที่น้อยกว่ากลุ่มพนักงานที่นั่งผิดหลักท่าทางการนั่งที่ หรือนั่งอยู่กับเก้าอี้ที่ถูกออกแบบมาไม่ดีไม่เหมาะสม
ดังนั้น จงอย่าคิดว่า เก้าอี้นั้นมันไม่สลักสำคัญอะไร เพราะทั้งนี้ เก้าอี้ที่ได้รับการออกแบบอย่างถูกต้องโดยอาศัยหลักการยศาสตร์นั้นมันสามารถช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บจากการนั่งทำงานและผลดีในท้ายที่สุดก็คือ มันจะช่วยเพิ่มอัตราผลผลิต(Productivity)โดยรวมหรือส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานได้
เก้าอี้ที่ถูกหลักการยศาสตร์นั้น ผู้ออกแบบจะมีการนำเอาหลักเกณฑ์ทางด้านการยศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของความสมดุลย์ของเก้าอี้มุมเอนหลังที่พอดี และการหมุนเคลื่อนไหวของเก้าอี้ในทิศทางต่างๆมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบด้วย
ดังนั้นผู้ซื้อเก้าอี้เหล่านี้ไปใช้ก็สมควรจะรับรู้รับทราบถึงหลักการต่างๆ เหล่านี้ด้วย ซึ่งในที่นี้ก็ขอสรุปประเด็นที่สำคัญๆ ของเก้าอี้เออร์โก้ ดีไซน์ มาประกอบพอเป็นสังเขปดังนี้
ความสมดุลย์ (Seat Balance)
เก้าอี้ที่ดีต้องช่วยส่งเสริมให้ผู้นั่งมีท่าทางทรวดทรงการนั่งที่ถูกต้องหรือท่าทางการนั่งที่สมดุลย์ตามธรรมชาติของลำกระดูกสันหลังที่เรียงตัวเป็นรูปตัวอักษรอังกฤษ ตัว “S” เมื่อมองจากทางด้านข้าง โดยที่หลังส่วนล่างที่เรียกว่า Lumbar Spines จะแอ่นเว้ามาทางด้านหน้า (ซึ่งหลังช่วงเอวที่แอ่นเว้าเข้ามาทางด้านหน้านี้ ศัพท์ทางด้านการยศาสตร์จะเรียกกันว่า Lumbar Lordosis) หลังช่วงเอวหรือส่วนล่างของตัว “s” นี่เองที่เป็นส่วนที่ต้องรองรับน้ำหนักตัวส่วนบน(ศรีษะ แขนและลำตัว) ทั้งหมดเอาไว้ และกล้ามเนื้อหลังส่วนเอวนี้ก็ต้องพยายามทำงานอย่างหนักคือทั้งหดทั้งดึงเพื่อรักษาแนวลำสันหลังรูปตัวเอสนี้เอาไว้ ไม่ให้เป็นตัวเอสหลังค่อม หรือตัวเอสหงายหลังจนเสียสมดุลย์ที่ดีไป แล้วในช่วงลัมบาร์ ลอร์ดอซิสของมนุษย์แต่ละคนนั้นก็จะมีขนาดความยาวที่ไม่เท่ากันทุกคน ดังนั้นเก้าอี้เออร์กอนอมิกส์ที่ดีจักต้องมีการออกแบบและติดตั้งปุ่มบังคับควบคุมต่างๆ เอาไว้ให้ผู้นั่งสามารถที่จะปรับตำแหน่งของเก้าอี้ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะแผ่นหรือพนักพิงหลังส่วนเอวให้มีขนาดมีความเหมาะสมสอดรับเข้าพอดีกับรูปทรงของหลังของแต่ละคนเพื่อให้การนั่งมีความสุขและความปลอดภัย และเพื่อช่วยบรรเทาหรือลดปริมาณความเค้นและความเครียดที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อหัวไหล่และกล้ามเนื้อต้นคอให้มีน้อยลงในขณะนั่ง มุมเอนของพนักพิงหลัง (Backrest Angle)
เก้าอี้การยศาสตร์นั้นจะต้องเป็นเก้าอี้ที่สามารถปรับเอนได้ตามความต้องการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มุมเอนของพนักพิงนั้นควรจะเอนทำมุมกับแนวระนาบได้ตั้งแต่ 90 –110 องศาเป็นอย่างต่ำ(มุมที่วัดจากต้นขา(แกนนอน) กวาดไปถึงแผ่นหลัง(แกนตั้ง)) มุมเอนที่ปรับได้ตามความต้องการนี้จะช่วยลดความกดดัน(Pressure) ที่กระทำต่อแนวกระดูกสันหลังส่วนเอวแต่ละชิ้นและยังจะช่วยเสริมสร้างความสมดุลย์ให้กับกล้ามเนื้อที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการนั่งอีกด้วย เพราะว่าร่างกายของผู้ที่นั่งเก้าอี้ยังคงสามารถรักษารูปทรงของแนวลำกระดูกสันหลังให้เป็นรูปตัว “S” ที่ดีเอาไว้ได้ในทุกท่วงท่าของการนั่ง
การขยับปรับแต่งเลื่อนได้ของเก้าอี้นั่ง (Seat Adjusting and Motion)
แม้ว่าคนเราจะนั่งอย่างถูกท่าทางตามหลักเออร์กอนอมิกส์แล้วก็ตาม แต่ถ้ายังคงนั่งในท่าทางเดิมๆ อยู่เป็นเวลายาวนานแล้วมันก็สามารถที่จะก่อให้เกิดภาวะความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าต่อร่างกายได้เช่นเดียวกันกับการนั่งเก้าอี้ที่ไม่ดี ดังนั้นการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเปลี่ยนแปลงอิริยาบถบ่อยๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการไหลเวียนโลหิตไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ในร่างกายในขณะนั่งได้อย่างคล่องตัว และการ ”บิดขี้เกียจ” อยู่บ่อยครั้งนี้ก็จะช่วยป้องกันปัญหาอาการบาดเจ็บหลังเรื้อรังสะสมหรือ CTD ที่เกิดขึ้นในระยะยาวได้อีกทางหนึ่ง เก้าอี้เออร์โก้ ดีไซน์นั้นจะช่วยให้ผู้นั่งสามารถขยับปรับเปลี่ยนอิริยาบถของตนเองได้โดยง่าย แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความสะดวกสบายในการนั่งอย่างถูกหลักสุขลักษณะอยู่ได้ตลอด
กล่าวสรุป เก้าอี้นั่งก็เปรียบเสมือนรองเท้าหรือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ทุกวี่ทุกวัน เวลาเราเลือกซื้อรองเท้า หรือไปให้ช่างตัดเสื้อวัดตัวก็เพื่อความต้องการที่จะสวมใส่มันได้พอเหมาะพอดี ใส่สบาย ดูสวยงามดูแล้วเท่ เวลาซื้อก็เลือกแล้วเลือกอีก แล้วทีกับเก้าอี้นั่งทำงานของเราเองหรือเก้าอี้ของพนักงาน-ลูกจ้างที่ต้องนั่งทำงานอยู่ในโรงงานของเราหรือของท่านล่ะ? เหตุไฉนจึงไม่มีความพิถีพิถันพินิจพิจารณาคัดเลือกซื้อเก้าอี้ที่ถูกหลักการยศาสตร์ ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่คนแต่ละคนนั่งได้อย่างเหมาะสม มีความสุขความสบายและมีความปลอดภัยจากการนั่ง อันจะก่ออานิสงส์เป็นพลวปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป

เอกสารอ้างอิง
1.น.ต. สุทธิ์ ศรีบูรพา: เออร์กอนอมิกส์: วิศวกรรมมนุษยปัจจัย: บริษัทซีเอ็ดยูเคชันจำกัด(มหาชน): พ.ศ. 2540; 370 บาท
2. http://www.stylexseating.com/Personal_Fit/Ergonomics.html
3. http://www.cyberchair.com

ไม่มีความคิดเห็น: